Melting Zone
กระบวนการหลอมโลหะ คือกระบวนการการให้ความร้อนกับโลหะหรือโลหะผสมจนเกิดการหลอมเหลวจนกลายเป็นน้ำโลหะเพื่อให้เทลงในแบบได้ และในระหว่างการหลอมโลหะก็จะมีการปรุงแต่งน้ำโลหะเพื่อให้ได้น้ำโลหะที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ ซึ่งเตาหลอมก็มีอยู่หลายประเภทตามแหล่งจ่ายพลังงาน เช่น เตาคิวโพล่า เตาหลอมแบบไฟฟ้าเหนี่ยวนำ เป็นต้น
Moulding Zone
กระบวนการทำแบบหล่อ คือขั้นตอนที่เรานำกระสวนหรือแม่พิมพ์มาสร้างแบบหล่อโลหะ วัสดุที่ใช้ทำแบบมีหลายประเภท แต่ทุกประเภทต้องเป็นวัสดุทนไฟ และเทคนิคการทำแบบมีหลากหลาย ดังนั้นกระบวนการหล่อโลหะและโลหะผสมจึงแบ่งประเภทงานหล่อจากประเภทของแบบที่ใช้ ในที่นี้จะกล่าวถึงกระบวนการทำแบบหล่อจากทรายเท่านั้น ทรายหล่อที่ใช้ในงานหล่ออุตสาหกรรมจะผสมเตรียมจากเม็ดทรายที่ทำให้จับก้อนคงรูปได้ด้วยดินเหนียวและสารประกอบเคมี การขึ้นรูปแบบหล่อที่ดีที่สุดจะขึ้นกับขนาด,ชนิดของชิ้นงานหล่อและปริมาณการผลิตที่ต้องการ ในกรณีที่ต้องการผลิตชิ้นงานหล่อเพียงเล็กน้อยการเลือกใช้loose pattern และแบบทรายหล่อที่ตำอัดขึ้นรูปด้วยมือ การทำแบบทรายหล่อโลหะด้วยมือเป็นวิธีการทำแบบหล่อที่เก่าแก่ที่สุดและทำแบบทรายหล่อได้ช้าที่สุด การเพิ่มปริมาณการผลิตจะทำได้โดยใช้กระสวนติดตั้งบนแผ่นไม้กว้างที่หน้าผ่าหีบหล่อเพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน ทรายหล่อชื้นจะมีแบ่งออกได้สองลักษณะคือแบบทรายหล่อชื้นที่มีหีบหล่อและไม่มีหีบหล่อ (Flask and flask less mold) เป็นอุปกรณ์ยึดจับก้อนทราย
Sand Plant Zone
คือขั้นตอนกระบวนการเตรียมทรายเพื่อทำแบบหล่อ รวมทั้งการแยกชิ้นงานหล่อออกจากแบบทราย และนำทรายที่ผ่านการเทน้ำเหล็กมาแล้วมาปรับสภาพให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก ซึ่งในกระบวนการนี้จะมีการควบคุมคุณภาพต่างๆของทรายหล่อ เช่น ความชื้น ความโปร่ง และอุณหภูมิ เป็นต้น ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ ในงานหล่อกระบวนการนี้ถือว่ามีส่วนสำคัญมากอีกกระบวนการหนึ่ง ซึ่งอาจส่งผลต่อการพบข้อบกพร่องต่างๆ ในชิ้นงานหล่อได้
Shot Blast Zone
การขัดผิวโลหะแบบพ่นยิง คือกระบวนการทำความสะอาดผิวของชิ้นงานหล่อ โดยที่ชิ้นงานจะถูกขัดยิงด้วยวัสดุทรงกลมที่ความเร็วสูง วัสดุที่ใช้มักจะเป็นเม็ดเหล็กหล่อ เม็ดขัด Cut wire ชนิดต่างๆ เม็ดเซรามิค หรือลูกปัดแก้ว ตามข้อกำหนดทางเทคนิค กระบวนการนี้ส่วนมากจะดำเนินงานในสภาพแวดล้อมแบบปิด เช่น ภายในตู้หรือพื้นที่จำกัดลักษณะอื่นที่เอื้อต่อการฟื้นสภาพและการนำเม็ดเหล็กกลับมาใช้อีกครั้ง และจำกัดปริมาณของฝุ่นละอองด้วย ส่วนมากการทำความสะอาดผิวแบบนี้จะใช้หลักการโมเมนตัม หรืออาจบอกได้ว่าใช้แรงกระแทกของเม็ดโลหะที่ถูกส่งมาจากใบยิง หรือแบบขับเคลื่อนด้วยลมให้กระแทกกับชิ้นงาน ส่งผลทำให้ทรายที่ติดอยู่บริเวณผิวของชิ้นงานหลุดออกมาได้
Air Pollution Zone (Dust Collector Zone)
คือ ขั้นตอนการกำจัดฝุ่นออกจากระบบ ซึ่งการกำจัดฝุ่นนั้นมีอยู่หลายวิธี เช่น ปัด, เป่า, เช็ด และใช้เครื่องดูดฝุ่น เป็นต้น การปัดและเป่านั้นเป็นวิธีที่กำจัดฝุ่นออกวิธีหนึ่งแต่ไม่ได้ช่วยให้ฝุ่นหมดไป ฝุ่นที่โดนปัดหรือเป่าออกจะแค่หลุดออกจากสิ่งหนึ่งๆ แล้วไปลอยอยู่ในอากาศ สุดท้ายก็จะตกลงมาเกาะตามที่ต่างๆ อีกครั้ง ส่วนการเช็ดเป็นการกำจัดฝุ่นที่ดีที่สุดแต่ไม่เหมาะกับพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่
วิธีการทำความสะอาดด้วยระบบดูดฝุ่น เป็นวิธียอดนิยมอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งเวลาใช้เราควรที่จะต้องเลือกระบบดูดฝุ่นให้ดี หากมีแรงดูดไม่พอก็ไม่อาจสามารถดูดฝุ่นออกได้ เลือกให้เหมาะกับประเภทของฝุ่นและนอกจากนี้ ลมที่ปล่อยออกจากระบบดูดฝุ่นเองก็เป็นสิ่งที่ควรระวัง เพราะถ้าหากถุงกรองฝุ่นไม่ดีพอฝุ่นอาจจะหลุดรอดออกมาได้
หลักการทำงานของระบบดูดฝุ่นคือ อากาศซึ่งประกอบไปด้วยฝุ่น ควัน เขม่า ซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตต่างๆ ในอุตสาหกรรม จะถูกดูดผ่านปากครอบ (Hood) เข้าท่อ ก่อนถูกดูดเข้าเครื่องดูดฝุ่น (Bag Filter) อากาศที่ปนเปื้อนด้วยฝุ่น ควัน และเขม่า ซึ่งมีอนุภาคที่ใหญ่กว่าผ้ากรองจะถูกกรองอยู่ด้านนอกของถุงกรอง ส่วนอากาศที่ผ่านการกรองจะซึมผ่านเข้าไปในถุงกรองก่อนจะออกจากเครื่องกรองฝุ่นเข้าพัดลมแรงดูดสูง ก่อนปล่อยอากาศที่สะอาดซึ่งผ่านการกรองแล้วสู่บรรยากาศ ส่วนฝุ่นที่ติดอยู่กับถุงกรองจะถูกนำออกจากถุงกรองได้หลายวิธี เช่น Shacking,Jet pulse หรือ Reverse air ซึ่งลักษณะการทำความสะอาดถุงนี้ถูกนำใช้ในการเรียกและจำแนกระบบดูดฝุ่นแต่ละประเภท